“เงินเดือนก้อนแรก” จะบริหารอย่างไร

“เงินเดือนก้อนแรก” จะบริหารอย่างไร

เมื่อได้รับเงินเดือนก้อนแรก แน่นอนว่าทุกคนจะต้องดีใจ ภูมิใจ และมีความสุข แต่คำถามที่ตามมาด้วยเสมอคือ คุณจะใช้เงินเดือนก้อนแรกนี้อย่างไร

บางคนก็นำไปให้คุณพ่อคุณแม่ บางคนก็นำไปซื้อของที่อยากได้ บางคนก็นำไปใช้ท่องเที่ยว บางคนก็ไปกินอาหารอร่อย บางคนก็ฝากธนาคาร

ถ้าถามว่าการใช้แบบนี้ผิดมั้ยก็คงตอบว่า “ไม่ผิด” เพราะมันเป็นเงินของคุณ แต่ถ้าถามว่าถูกมั้ยก็ต้องว่า “ไม่ถูก” ตามหลักการบริหารเงินสู่ “อิสรภาพทางการเงิน”

ประเด็นก็คือ คุณควรจะบริหารเงินเดือนก้อนแรกนี้อย่างไรจึงจะถูกต้อง

เมื่อได้เงินมา สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือ “การออมเงิน” ส่วนที่เหลือจากการออมจึงนำไปใช้จ่าย อย่าใช้จ่ายก่อนออมเด็ดขาดเพราะสุดท้ายแล้วคุณอาจจะไม่เหลือเงินออมเลย บางทีคุณอาจจะมีหนี้และดอกเบี้ยเป็นของแถมด้วยซ้ำ

การออมเงินนั้นมีหลักง่ายๆ แต่ปฏิบัติยากมากๆดังนี้ครับ

1.คุณจะต้องแยกบัญชีเงินออมออกจากบัญชีสำหรับใช้จ่าย

2.คุณต้องมีวินัย เช่น ต้องแบ่งเงินออมทันทีเมื่อได้รับเงิน และต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าจะออมเดือนละกี่บาท คนทั่วไปควรออมอย่างน้อย 10% ของรายได้ (โดยส่วนตัวแล้วผมออมเงิน 50-70% เพราะผมไม่คิดจะทำแบบคนทั่วไป เพราะผมมีเป้าหมายคือ “อิสรภาพทางการเงิน” ในเบื้องต้นขอให้คุณออมเงินที่ 10-30% ต่อเดือนก่อน)

ในการออมเงินนั้น คุณจะต้องแบ่งส่วนเงินออมออกเป็นกองๆเพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และระยะเวลาของการออมเงินแต่ละกองให้ชัดเจนอีกด้วย เช่น 1.ออมฉุกเฉิน 2.ออมเพื่อการศึกษา 3.ออมเพื่อการลงทุน 4.ออมซื้อบ้าน/คอนโดเพื่ออยู่อาศัย เป็นต้น

เราควรออมเงินกองใดก่อนเป็นอันดับแรก

เงินออมที่ทุกควรมีเป็นอันดับแรกคือ “เงินออมฉุกเฉิน” ซึ่งหมายถึง เงินออมที่มีไว้ใช้จ่ายในกรณีที่คุณมีความจำเป็นต้องใช้เงินโดยไม่คาดคิด เช่น เมื่อคุณเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ เงินหาย หรือตกงาน เป็นต้น

เงินออมฉุกเฉิน คุณควรจะมีอย่างน้อย 3-6 เดือนของ “รายได้” เช่น ถ้าคุณมีเงินเดือน 15,000บาท คุณก็ควรมีเงินออมฉุกเฉินเริ่มต้นที่ 45,000-90,000บาท หากคุณออมเงิน 10% = 1,500บาท/เดือน คุณจะต้องใช้เวลา 30-60 เดือนจึงจะถึงเป้าหมาย ซึ่งผมคิดว่าช้าเกินไป

หากคุณต้องการถึงเป้าหมายเร็วขึ้นก็สามารถทำได้ง่ายๆด้วยการ “เพิ่มสัดส่วนการออม” เช่น เพิ่มการออมเงินจาก 10% เป็น 30% = 5,000บ./เดือน คุณจะสามารถออมเงิน 45,000-90,000บาทได้ภายในเวลา 9 – 18 เดือน

เงินออมฉุกเฉินนี้สำคัญมาก เพราะเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน คุณก็ยังมีเงินสำรองเพียงพอที่จะใช้จ่ายได้ โดยไม่ต้องกลับไปขอพ่อแม่ หรือขอยืมเพื่อน หรือไปกู้เงินนอกระบบ ทำให้คุณมีความมั่นใจในการออมเงินกองต่อๆไปมากยิ่งขึ้น

เมื่อคุณมีเงินออมฉุกเฉินจนถึงเกณฑ์มาตรฐานแล้ว สิ่งที่คุณจะต้องคิดและทำต่อไปก็คือการออมเงินในกองอื่นๆ เช่น ออมเงินเพื่อการศึกษา หรือ ออมเงินเพื่อการลงทุน เป็นต้น

สำหรับการออมเงินเพื่อการศึกษา คุณไม่ควรจำกัดตัวเองเฉพาะการเรียนต่อปริญญาโทหรือปริญญาเอกเท่านั้น เพียงแค่คุณแบ่ง 200-300บาท/เดือน มาซื้อหนังสืออ่าน 1 เล่ม/เดือน ทำแบบนี้ทุกเดือนคุณก็จะได้อ่านหนังสือ 12 เล่ม/ปี ช่วยให้คุณมีความรู้มากกว่าคนในวัยเดียวกันหลายเท่าแล้ว

สำหรับผมแล้ว ความรู้ดีๆและฟรีๆมีมากมายบนอินเทอร์เน็ต อยากรู้อะไรก็ใช้ Google ค้นหา หรือดูคลิปวิดิโอบน Youtube เป็นต้น

ส่วน “เงินออมเพื่อการลงทุน” ไม่ว่าจะในกองทุนรวม หุ้น ทองคำแท่ง หรืออสังหาริมทรัพย์ คุณจะต้องมีเงินอีกกองหนึ่งไปใช้ลงทุนแยกต่างหากจากกองเงินออมฉุกเฉิน
หรือที่นิยมเรียกกันว่า “เงินเย็น” เพราะคุณจำเป็นต้องใช้จังหวะเวลากับโอกาสในการลงทุน

หากคุณมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นในระหว่างการลงทุน คุณก็เพียงนำเงินออมฉุกเฉินออกมาใช้จ่ายซึ่งจะไม่กระทบต่อแผนการลงทุนของคุณเลย ในทางกลับกัน หากคุณไม่มีเงินออมฉุกเฉินเลยหรือมีแต่ไม่มากพอ คุณอาจจะต้องขายทรัพย์สินที่ลงทุนไว้เพื่อนำเงินมาใช้ในกรณีฉุกเฉินซึ่งจะทำให้คุณเสียแผนและเสียเป้าหมายในการลงทุนได้ (แต่ก็ยังดีกว่าต้องกลับไปขอเงินพ่อแม่ ขอยืมเพื่อน หรือกู้เงินนอกระบบจริงมั้ยครับ)

หากคุณต้องการรู้รายละเอียดเกี่ยวกับการเริ่มต้นลงทุนด้วยเงินจำนวนไม่มากในกองทุนรวม หุ้น ทองคำแท่ง และอสังหาริมทรัพย์ ผมจะเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป ตอนนี้ให้เวลาคุณออมเงินฉุกเฉินไปพลางก่อนนะครับ

หลังจากนี้บทความของผมจะไม่ได้มีแค่กฎหมายด้านเดียวแล้วนะครับ แต่จะเพิ่มเติมเรื่องการออมเงิน การลงทุน และการประกันชีวิต ให้ด้วย เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ติดตามไม่มากก็น้อย

ขอบคุณที่ติดตาม คลิ้ก Like และ Share บทความของผมครับ

Write a comment