“การเรียน” กับ “การออกกำลังกาย”
นักเรียน : อ.เป้ครับ มีเทคนิคที่ช่วยให้เรียน(วิชานั่นโน่นนี่)ให้รู้เรื่องมั้ยครับ
อ.เป้ : มีครับ เลิกกินเหล้าเบียร์ของมึนเมาทุกชนิด, เลิกสูบบุหรี่, เลิกนอนดึก, ให้ฝึกสมาธิและ “ออกกำลังกาย” ครับ
นักเรียน : นั่นเป็นองค์ประกอบภายนอกป่าวครับ
อ.เป้ : นี่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากๆครับ
ถ้าเปรียบเทียบมนุษย์ว่าเป็น Computer ร่างกายและสมองก็เหมือน Hardware ส่วนวิชาความรู้ต่างๆ เช่น วิชาว่าความ หรือ เนติบัณฑิต ย่อมเปรียบเหมือน Software
Hardware ที่ดี เช่น CPU i7, Ram 16GB, Harddisk 2TB ย่อมสามารถรัน Software ดีๆในปัจจุบันได้ทุกชนิดโดยเครื่องไม่กระตุกและไม่ค้าง สามารถทำงานได้เสร็จตามเป้าหมายที่กำหนด
ดังนั้น ร่างกายและสมองที่ดี ย่อมเรียนแล้วเข้าใจได้เร็ว จำได้มาก สามารถนั่งเรียนหรืออ่านหนังสือนานๆได้ เจ็บป่วยน้อย ไม่ต้องขาดเรียนหรือขาดสอบ
กลับกัน ถ้า Hardware ไม่ดี เช่น CPU Atom 1.6G (นึกถึง Netbook), Ram 1GB, Harddisk 500GB แค่ลง Software พื้นฐานทั่วไป บางทีเครื่องกระตุกหรือค้างไปดื้อๆทั้งที่ใช้งานยังไม่เสร็จ
ร่างกายและสมองที่ไม่ดี เรียนอะไรก็งง ต่อให้คนสอน “สอนเก่ง” ก็ยัง “งง” จำได้น้อย นั่งเรียนหรืออ่านหนังสือได้ไม่นาน เจ็บป่วยบ่อยทำให้ต้องขาดเรียนหรือขาดสอบ
บางคนร่างกายดีสมองดีมาแต่กำเนิดถือว่าโชคดี ส่วนคนที่ร่างกายไม่แข็งแรงหรือสมองทำงานได้ไม่ดีก็ต้องโทษกรรม แต่เราสามารถ “แก้กรรม” ชนิดนี้ได้ด้วยการ “ออกกำลังกาย” โดยเริ่มต้นที่ 1 วัน/สัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที แล้วค่อยๆเพิ่มขึ้นตามเวลาที่มี
โดยส่วนตัวแล้ว ผมจะกำหนดตารางออกกำลังกายไว้ 2 รูปแบบ
1.กรณียุ่งมาก เช่น ช่วงติวก่อนสอบประมาณ 1-2 เดือน ผมจะมีสอน 5-6 วัน/สัปดาห์ ผมจะกำหนดเวลาออกกำลังกายที่ 1-2 วัน/สัปดาห์ ครั้งละ 60นาที
2.กรณีว่างมาก เช่น ช่วงปิดเทอม ผมไม่มีสอนเลย หรือช่วงเปิดเทอมใหม่ๆ ผมจะมีสอนแค่ 2-4 วัน/สัปดาห์ ผมจะกำหนดเวลาออกกำลังกายที่ 3-5 วัน/สัปดาห์ ครั้งละ 60 นาทีเช่นกัน
สำหรับวิธีการออก ให้ออกอะไรก็ได้ที่สะดวก สมัยเรียนเนติฯ ผมมีงบน้อยก็เลือกไปว่ายน้ำที่เดอะมอลล์ 1 วัน/สัปดาห์ครับ
ปัจจุบัน ผมใช้วิธีปั่นจักรยาน, ยกเวท, วิ่ง, แอโรบิค, ว่ายน้ำ ตามสถานการณ์และสภาพอากาศครับ
ตอนนี้อ่านจบแล้ว ให้เริ่มต้นวางแผนและลงมือทำในวันนี้เลยนะครับ
ศิษย์สมาร์ทลอว์ฯ สู้ๆ